ความโกรธเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ไม่ต้องพูดถึงเด็ก ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็เผชิญกับความโกรธกันมานับครั้งไม่ถ้วน แถมหลาย ๆ ครั้งก็ไม่สามารถจัดการกับความโกรธได้ดีพอ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าเจ้าตัวน้อยของเรา จะมีอารมณ์โกรธ แล้วเผลอแสดงอาการเกรี้ยวกราดออกบ้าง แต่จะทำอย่างไรให้การโกรธของลูก ไม่เป็นการบ่มเพาะเชื้อโรคร้ายทางอารมณ์ ให้กลายเป็นคนช่างโกรธ ชอบกรี๊ด หรือที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ ความโกรธสามารถเปลี่ยนไปเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน ดูหมิ่นได้ ซึ่งส่งผลให้เด็ก ๆ ที่น่ารักของเราแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา ไม่ว่าจะเป็นตะโกน กรีดร้อง นอนดิ้น ขว้างปาสิ่งของ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เด็ก ๆ ควรได้รับการฝึกฝนทักษะการจัดการกับความโกรธ
ซึ่งวันนี้มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
สอนให้เด็กๆ รู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง ช่วยลูกให้เข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในตัวเขา และช่วยให้ลูกรับรู้ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในตนเองเป็นสิ่งธรรมชาติและธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถแสดงความโกรธ หงุดหงิด และความผิดหวังออกมาได้ โดยอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการโกรธเป็นเรื่องปกติ แต่การลงมือลงไม้ทุบตี การลงไปนอนดิ้น การกรี๊ดกรีดร้อง หรือความก้าวร้าวรุนแรงต่างหาก ที่ไม่ใช่เรื่องปกติ จากนั้นให้สอนถึงการควบคุมการกระทำของตัวเอง รู้ตัวทุกครั้งว่าโกรธ และเมื่อรู้ว่าโกรธ ให้ลองสื่อสารบอกพ่อกับแม่ว่าโกรธเรื่องอะไร ทำไมถึงโกรธ และอยากให้แก้ไข หรือให้อะไร เพื่อให้ความโกรธลดลง เพื่อที่จะได้ช่วยกันแก้ไขปมปัญหาในใจลูก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยทำให้ลูกน้อยค่อย ๆ แยกแยะระหว่างเรื่องของอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น กับพฤติกรรมที่แสดงความโกรธได้
วิธีที่ดีที่สุดในการสอนเด็ก ๆ ให้จัดการกับความโกรธ คือ การแสดงให้พวกเขาเห็นว่า คุณพ่อคุณแม่มีวิธีจัดการกับความโกรธ หรือจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไร และที่สำคัญ วิธีการที่คุณใช้จัดการกับอารมณ์นั้น ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถสื่อสารและส่งต่อให้กับลูกของคุณได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เป็นเรื่องกระตุ้นอารมณ์กันได้ง่ายและบ่อยครั้ง นั่นคือช่วงเวลาของการขับรถ เวลาที่การจราจรเป็นเหมือนจลาจล รถติดวุ่นวาย มีคนขับปาด ขับแซง ขับไร้มารยาท แต่คุณสามารถควบคุมอารมณ์ให้ลูกเห็น ขับรถอย่างใจเย็น มีน้ำใจ และมีมารยาทไปด้วย พูดอธิบายสอนไปด้วย โดยมีการกระทำของคุณเป็นตัวอย่างประกอบ เช่น บอกลูกว่า “จริง ๆ พ่อโกรธรถคันหน้ามากเลยนะ แต่โกรธแค่ไหน ก็ให้อภัยได้ ยิ่งแข่ง ยิ่งแซง ยิ่งเอาชนะ ยิ่งเกิดอันตราย โดยเฉพาะอันตรายกับลูกของพ่อ อาจประสบอุบัติเหตุจากความโกรธของพ่อได้” เด็กจะเริ่มจดจำสิ่งที่เห็นและซึมซับคำสอนที่มาพร้อมกับตัวอย่างจริง ๆ ไม่ใช่สอนลูกอย่าง แต่ทำให้ลูกเห็นเป็นอีกอย่าง แบบนี้เด็กจะเกิดความสับสนได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ
สอนให้ลูกเรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ลูกฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ฝึกการคิดวิเคราะห์และวางแผนการแก้ไขสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความโกรธ คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำให้ลูกฝึกการใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ เช่น การพูดคุยออกมาให้คนอื่นเข้าใจอารมณ์ การเดินออกจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด แล้วไปทำกิจกรรมอื่นที่ชื่นชอบเพื่อความผ่อนคลาย นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถช่วยหาเครื่องมือสร้างชุดสงบสติอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ เช่น สมุดระบายสี ดินสอสี ปั้นแป้งโดว์ ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย หรือช่วยให้ลูกเรียนรู้วิธีการสร้างความสงบให้กับตัวเอง เช่น การใช้เทคนิคการหายใจลึก ๆ เมื่อมีอารมณ์รุนแรงขึ้น การให้ลูกมีเวลาพักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ อารมณ์จะได้แจ่มใสไม่ขี้หงุดหงิด งอแง เพื่อให้มีสมดุลในอารมณ์และพลังในการจัดการกับความโกรธ
ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีกฎของครอบครัว ไว้ใช้สำหรับเป็นกติการในการอยู่ร่วมกัน เพื่อใช้กำกับควบคุมและสร้างระเบียบวินัยในบ้าน รวมไปถึงเป็นการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน อาจจะมีบทลงโทษกำหนดไว้ด้วย เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เรื่องของความโกรธเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่จำเป็นต้องออกแบบเป็นกฎไว้ใช้ในบ้าน เรียกว่า “กฎความโกรธ” มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติตนด้วยความเคารพต่อผู้อื่น มีการพูดถึงเรื่องที่เด็ก ๆ ไม่ควรทำ เช่น ความก้าวร้าวทางกาย การดุด่า การใช้คำหยาบคาย และการทำลายข้าวของ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าพวกเขาไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ และที่สำคัญ ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องปฏิบัติตามกฎ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองสำคัญที่สุด ที่ต้องเป็นต้นแบบในการปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก
วิธีนี้เป็นการสร้างเสริมแรงจูงใจให้แก่ลูกของคุณ ในด้านบวกคือ เมื่อพวกเขาทำตามกฎแห่งความโกรธได้สำเร็จคือ รู้ตัวว่ากำลังโกรธ และสามารถจัดการกับความโกรธได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้รางวัลแก่พวกเขา ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยการกล่าวคำชม ปรบมือแสดงความยินดี ให้รางวัลเป็นขนม ของเล่น หรือสิ่งที่ลูกชอบ แต่ถ้าเขาไม่ทำตามกฎ เขาก็ต้องได้รับผลลัพธ์อีกด้านเช่นกัน เช่น เมื่อลูกน้อยทำผิดกฎ แสดงความก้าวร้าว กรี๊ดชักดิ้นชักงอ เมื่อเราทำให้ลูกสงบแล้ว จำเป็นต้องทบทวนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีอะไรต้องเรียนรู้ และเขาต้องได้รับการลงโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าใช้ความรุนแรงลงโทษเด็กเด็ดขาด เพราะมันจะเป็นตัวการทำให้ลูกสะสมบ่มเพาะความรุนแรง ความเกลียดชังการถูกลงโทษ หรือต่อต้าน เช่น อาจจะแค่ให้ลูกเข้ามุม ไปสงบสติอารมณ์ตัวเอง 5 นาที หรือห้ามเล่นเกมนี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลา เป็นต้น
ข้อสุดท้ายนี้ ขอมอบให้แก่คุณพ่อคุณแม่โดยเฉพาะ เมื่อลูกตกอยู่ในภาวะความโกรธ ทักษะสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ ทักษะด้านการสื่อสาร สื่อสารอย่างรอบคอบและรับฟังอย่างจริงใจ เมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์ที่โกรธ ต้องช่วยเปิดประตูให้ลูกมองเห็นทางออก อย่าบีบให้เขาเจอทางตันหรือกดดันให้หายจากความโกรธ หรือมองว่าลูกจะโกรธไม่ได้ ความโกรธมันผิด ไม่ควรทำ คุณพ่อคุณแม่แค่ช่วยเปิดช่อง นำทางพาลูกน้อยไปหาทางออก ลองเสนอแนะวิธีให้ลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกคิดตาม และพิจารณาที่จะเลือกทางออกให้กับตัวเอง และให้ลูกเห็นว่าความโกรธสามารถแก้ไขได้ผ่านการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ และการหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขสถานการณ์
การจัดการอารมณ์ในเรื่องความโกรธ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ EQ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) ที่ลูกน้อยควรได้รับการฝึกฝนตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้ทุกพัฒนาการของชีวิตลูก เต็มไปด้วยความฉลาดในการดำเนินชิวิตอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขและความสำเร็จ
Auntie
ข้อมูลประกอบ
บทความเรื่อง 5 Ways to Teach Your Child Anger Management Skills โดย Amy Morin, LCSW